ปลาป่าหรือปลาลูกทุ่ง
เป็นปลากัดที่พบในแหล่งน้ำธรรมชาติ ตามท้องนา และหนองบึง เป็นปลาขนาดเล็กที่ไม่มีลักษณะเด่นมากนัก ส่วนมากครีบ และหางมีสีแดงเกือบตลอด มีประสีดำบ้างเล็กน้อย บางทีอาจมีแต้มสีเขียวอ่อนๆ เรียงต่อกันเป็นเส้นสีเขียวๆ ที่ครีบหลัง เวลาถอดสี ทั้งตัวและครีบจะเป็นสีน้ำตาลด้านๆ คล้ายใบหญ้าแห้ง ในปัจจุบันคำว่า “ปลาป่า” หมายความรวมถึงปลากัดพื้นเมืองภาคอีสาน และปลากัดพื้นเมืองภาคใต้ด้วย
ปลาสังกะสี และปลาลูกหม้อ
เป็นปลากัดที่นักเพาะพันธุ์ปลาได้นำมาคัดสายพันธุ์ โดยมุ่งหวังจะได้ปลาที่กัดเก่ง จากบันทึกคำบอกเล่าของหลวงอัมรินทร์สมบัติ (ครอบ สุวรรณนคร) ซึ่งเป็นนักเลงปลาเก่าเชื่อว่า ปลาสังกะสีและปลาลูกหม้อน่าจะได้รับการพัฒนาขึ้นเมื่อประมาณพ.ศ. ๒๔๓๐ โดยท่านจำได้ว่าก่อนหน้านั้นยังต้องจับปลาป่ามากัดพนันกันอยู่ ต่อมานักเลงปลาบางคนก็เริ่มใช้วิธีไปขุดล้วงเอาปลาป่าที่อาศัยอยู่ตามรูปูในฤดูแล้ง มาขังไว้ในโอ่ง และเลี้ยงดูให้อาหาร พอถึงฤดูฝน ก็นำมากัดพนันกับปลาป่า ซึ่งส่วนใหญ่จะสู้ปลาขุดที่นำมาเลี้ยงไว้ไม่ได้ การเล่นปลาขุดยังนิยมเล่นกันมาถึงประมาณ พ.ศ. ๒๔๙๖ หลังจากนั้นก็มีการเก็บปลาที่กัดเก่งเลี้ยงไว้ข้ามปี และหาปลาป่าตัวเมียมาผสม ลูกปลาที่ได้จากการผสมในชุดแรกเรียกว่า “ปลาสังกะสี” ปลาสังกะสีที่เก่ง อดทน สวยงาม ก็จะถูกคัดไว้เป็นพ่อแม่พันธุ์ เมื่อผสมออกมาในชุดต่อไป จะได้ปลาที่เรียกว่า “ปลาลูกหม้อ”ที่เรียกว่า ปลาสังกะสี สันนิษฐานว่าน่าจะได้ชื่อมาจากผิวหนังที่หนาแกร่ง ไม่ขาดง่ายเมื่อถูกกัดเหมือนปลาป่า ปลาสังกะสีมักจะตัวใหญ่ มีสีสันลักษณะต่างจากปลาป่า แต่ส่วนมากมีชั้นเชิงและความอดทนในการกัดสู้ปลาลูกหม้อไม่ได้
ส่วนที่เรียกว่า ปลาลูกหม้อ นั้น น่าจะมาจากการนำหม้อดินมาใช้ในการเพาะและอนุบาลปลากัดในระยะแรกๆ ปลาลูกหม้อจึงเป็นปลาสายพันธุ์ที่สร้างมาโดยนักเลงปลาทั้งหลาย เพื่อให้ได้ลักษณะที่ดีสำหรับการต่อสู้ และมีสีสันที่สวยงามตามความพอใจของเจ้าของ ปลาลูกหม้อมีรูปร่างหนาใหญ่กว่าปลาป่าและปลาสังกะสี ส่วนมากสีจะเป็นสีน้ำเงิน สีแดง สีเทา สีเขียว สีคราม หรือสีแดงปนน้ำเงิน ครีบหางอาจเป็นรูปมนป้าน หรือรูปใบโพธิ์ การเล่นปลากัดในสมัยก่อนนั้น ปลาลูกหม้อแบ่งออกเป็น ๒ ประเภทคือ “ลูกแท้” และ “ลูกสับ” ลูกแท้หมายถึง ลูกปลาที่เกิดจากพ่อแม่ที่มาจากครอกเดียวกัน ส่วนลูกสับหมายถึง ลูกปลาที่เกิดจากพ่อแม่ที่มาจากต่างครอกกัน
ปลากัดจีน
เป็นชื่อที่ใช้เรียกปลากัดครีบยาวมาช้านาน เข้าใจว่าอาจมาจากลักษณะครีบที่ยาวรุ่ยร่ายสีฉูดฉาดเหมือนงิ้วจีน ปลากัดจีนเป็นปลาที่พัฒนาสายพันธุ์มาจากปลาลูกหม้อ โดยผสมคัดพันธุ์ให้ได้ลักษณะที่มีครีบและหางยาวขึ้น ความยาวของครีบหางส่วนใหญ่จะยาวเท่ากับ หรือมากกว่าความยาวของลำตัวและหัวรวมกัน และมีการพัฒนาให้ได้สีใหม่ๆ และสวยงาม โดยนักเพาะเลี้ยงปลากัดชาวไทย ซึ่งได้พัฒนาสายพันธุ์สำเร็จมาช้านาน ก่อนที่ปลากัดจะถูกนำไปเลี้ยงในต่างประเทศ แต่ไม่มีการบันทึกไว้ว่า การพัฒนาปลากัดสายพันธุ์นี้เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อใด ปลากัดชนิดนี้เป็นชนิดที่นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามแพร่หลายไปทั่วโลก และได้มีการนำไปพัฒนาสายพันธุ์ต่อเนื่อง จนได้สายพันธุ์ที่มีลักษณะใหม่ๆ ออกมาอีกมากมาย
ปลากัดหางสามเหลี่ยม หรือปลากัดเดลตา
เป็นปลาที่พัฒนาสายพันธุ์มาจากปลากัดครีบยาว หรือปลากัดจีน โดยพัฒนาให้หางสั้นเข้าและแผ่กว้างออกไปเป็นรูปสามเหลี่ยม ขอบครีบหางกางทำมุม ๔๕ - ๖๐ องศา กับโคนหาง และต่อมาได้พัฒนาให้ครีบแผ่ออกไปกว้างมากยิ่งขึ้น เรียก “ซูเปอร์เดลตา” ซึ่งมีหางแผ่กางใหญ่กว่าปกติ จนขอบครีบหางด้านบนและล่างเกือบเป็นเส้นตรง
ปลากัดหางพระจันทร์ครึ่งซีก หรือปลากัดฮาล์ฟมูนเดลตา
เป็นปลากัดที่มีหางแผ่เป็นรูปครึ่งวงกลม โดยขอบครีบหางจะแผ่เป็นแนวเส้นตรงเดียวกันเป็นมุม ๑๘๐ องศา ได้มีแนวคิดและความพยายามในการที่จะพัฒนาปลากัดสายพันธุ์นี้ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๐ ในประเทศเยอรมนี แต่เพิ่งประสบผลสำเร็จเมื่อราว พ.ศ. ๒๕๓๐ โดยนักเพาะเลี้ยงปลากัดชาวฝรั่งเศสและชาวเยอรมัน
ปลากัดหางพระจันทร์ครึ่งซีกมีลักษณะที่สำคัญ คือ ครีบหางแผ่เป็นรูปครึ่งวงกลม โดยขอบครีบด้านหน้าจะแผ่เป็นแนวเส้นตรงเดียวกันเป็นมุม ๑๘๐ องศา ครีบด้านนอกเป็นขอบเส้นโค้งของครึ่งวงกลม ก้านครีบหางแตกแขนง ๒ ครั้ง เป็น ๔ แขนง หรือมากกว่า ปลาที่สมบูรณ์จะต้องมีลำตัวและครีบสมส่วนกัน โดยลำตัวต้องไม่เล็กเกินไป ครีบหางแผ่ต่อเนื่องหรือซ้อนทับกับครีบหลังและครีบก้น จนเห็นเป็นเนื้อเดียวกัน ขอบครีบหลังโค้งมนเป็นส่วนหนึ่งของวงกลม เส้นขอบครีบทุกครีบโค้งรับเป็นเส้นเดียวกัน (ยกเว้นครีบอก) ปลายหางคู่ที่แยกเป็น ๒ แฉกจะต้องซ้อนทับและโค้งมนสวยงาม ปลากัดหางพระจันทร์ครึ่งซีกที่แท้จริงจะต้องมีขอบครีบหางแผ่ทำมุม ๑๘๐ องศา ได้ตลอดไป ถึงแม้ปลาจะมีอายุมากขึ้นก็ตาม
ปลากัดหางพระจันทร์ครึ่งซีกมีลักษณะที่สำคัญ คือ ครีบหางแผ่เป็นรูปครึ่งวงกลม โดยขอบครีบด้านหน้าจะแผ่เป็นแนวเส้นตรงเดียวกันเป็นมุม ๑๘๐ องศา ครีบด้านนอกเป็นขอบเส้นโค้งของครึ่งวงกลม ก้านครีบหางแตกแขนง ๒ ครั้ง เป็น ๔ แขนง หรือมากกว่า ปลาที่สมบูรณ์จะต้องมีลำตัวและครีบสมส่วนกัน โดยลำตัวต้องไม่เล็กเกินไป ครีบหางแผ่ต่อเนื่องหรือซ้อนทับกับครีบหลังและครีบก้น จนเห็นเป็นเนื้อเดียวกัน ขอบครีบหลังโค้งมนเป็นส่วนหนึ่งของวงกลม เส้นขอบครีบทุกครีบโค้งรับเป็นเส้นเดียวกัน (ยกเว้นครีบอก) ปลายหางคู่ที่แยกเป็น ๒ แฉกจะต้องซ้อนทับและโค้งมนสวยงาม ปลากัดหางพระจันทร์ครึ่งซีกที่แท้จริงจะต้องมีขอบครีบหางแผ่ทำมุม ๑๘๐ องศา ได้ตลอดไป ถึงแม้ปลาจะมีอายุมากขึ้นก็ตาม
ปลากัดหางมงกุฎ หรือปลากัดคราวน์เทล
เป็นปลากัดที่ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์ขึ้นใน พ.ศ. ๒๕๔๓ โดยนักเพาะเลี้ยงปลากัดชาวสิงคโปร์ เป็นปลากัดสายพันธุ์ใหม่ที่มีหางจักเป็นหนามเหมือนมงกุฎ และเป็นสายพันธุ์หนึ่งที่ได้รับความนิยมเลี้ยงกันมากในปัจจุบัน ลักษณะสำคัญของปลากัดชนิดนี้คือ ก้านครีบจะโผล่ยาวออกไปจากปลายหาง ลักษณะดูเหมือนหนาม ซึ่งอาจยาวหรือสั้นแตกต่างกันออกไป เช่นเดียวกับลักษณะการแยกของปลายหนาม และการแยกการเว้าโคนหนามก็มีหลายรูปแบบ ปลากัดหางมงกุฎที่สมบูรณ์จะมีครีบหางแผ่เต็มซ้อนทับได้แนวกับครีบอื่นๆ และส่วนของหนามมีการจัดเรียงในรูปแบบที่สวยงามสม่ำเสมอ
ปลากัดประเภทอื่นๆ
นอกจากที่ได้กล่าวมาแล้ว ยังมีปลากัดประเภทอื่นๆ เช่น “ปลากัดเขมร” ที่ใช้เรียกปลากัดที่มีสีลำตัวเป็นสีอ่อนหรือเผือก และมีครีบสีแดง “ปลากัดหางคู่” ซึ่งครีบหางมีลักษณะเป็น ๒ แฉก อาจแยกกันอย่างเด็ดขาด หรือที่ตรงโคนยังเชื่อมติดกันอยู่ก็ได้ รวมทั้งปลากัดที่เรียกชื่อตามรูปแบบสี เช่น “ปลากัดลายหินอ่อน” และ “ปลากัดลายผีเสื้อ”
|
อาหารปลากัด
อาหารสด
1. ไรแดงน้ำจืด มีทั้งแบบสด และแบบแช่แข็ง
ไรแดงเหล่านี้ หาได้จากแหล่งน้ำธรรมชาติทั่วไป หรือเพื่อความสะดวกก็หาซื้อได้ตามร้านขายอาหารปลา
ที่จตุจักร, สนามหลวง2 ( ตลาดธนบุรี ) หรือ ตามร้านจำหน่ายปลาสวยงามร้านใหญ่ส่วนมากจะรับอาหารสดพวกนี้ไว้ขายควบคู่ไปด้วย เนื่องจากมีทั้งแบบสด และแบบแช่แข็ง เพื่อความสะดวกของผู้ที่หาซื้อได้ยาก หรือไม่ค่อยมีเวลา แต่หมูขอแนะนำให้ใช้แบบสด จะดีกว่า เนื่องจาก สามารถ ใช้เลี้ยงได้ตั้งแต่ลูกปลาแรกเกิด โอกาสที่น้ำจะเสีย ค่อนข้างน้อยกว่าการให้แบบแช่แข็ง เพราะอาหารที่ตายแล้ว ส่วนใหญ่ลูกปลามักไม่ค่อยสนใจ จนทำให้เศษอาหาร ที่เหลือเป็นตัวทำให้น้ำเน่าเสีย แล้วก็ทำให้เราดูแลลำบากมากขึ้น เพราะการจะย้ายลูกปลานั้น ค่อนข้างยาก จะเปลี่ยน ถ่ายน้ำก็ไม่ได้ เพราะเดี๋ยวลูกปลาจะเล็ดลอดติดไปกับสายยางที่ใช้ดูดน้ำเสีย การให้อาหารลูกปลานั้นต้องระวัง พอสมควร ให้ปริมาณพอเพียง แต่ให้บ่อยหน่อยจะดีกว่า นอกจากใช้เลี้ยงลูกปลาแล้ว ไรแดงสามารถใช้เลี้ยง ปลาโตเต็มวัยได้ด้วยเช่นกัน
2. หนอนแดง แบบสด และแบบแช่แข็ง
หนอนแดงหาจากแหล่งน้ำธรรมชาติได้บ้าง แต่ไม่มากนัก เหมาะสำหรับเลี้ยงปลาโตเต็มวัยดีมาก ค่อนข้างสะอาด โปรตีนสูง ถ้าเป็นแบบสด ซื้อมาแล้วก็ล้างน้ำให้สะอาดอีกสักหน่อย ก็ให้ปลากินได้เลย ส่วนแบบแช่แข็งต้องมีวิธีการให้นิดนึง เนื่องจากตายแล้ว เพียงแต่ยังคงความสดอยู่ เวลาไปซื้อก็สังเกตที่แพ็คเกจด้วย หนอนแดงแช่แข็งที่ใหม่สีจะแดงถ้าเห็นออกเป็นสีดำๆ นั่นเป็นหนอนแดงที่เก่าแล้ว เวลาให้ปลาจะเน่าเสียได้ ส่วนวิธีการให้ปลากิน ก็มีดังนี้เนื่องจากหนอนแดงแช่แข็ง จะแบ่งเป็นหลุมสี่เหลี่ยมลูกเต๋าแล้ว ง่ายต่อการ แบ่งออกมาใช้ หากปลาไม่มาก เพียงแค่หลุมเดียวก็น่าจะพอ แต่ถ้าเลี้ยงปลาเยอะ ก็คงต้องใช้หลายหลุมหน่อย ก็กะเอาตามความเหมาะสม หลังจากนำออกจากฟอยล์แล้ว ใส่ภาชนะที่เตรียมไว้ แล้วหันไปทำภาระกิจอื่น ก่อนได้เลยค่ะ ปล่อยให้หนอนที่จับตัวเป็นก้อน ละลายเอง เมื่อหนอนละลายแล้ว ก็นำช้อนหรือ อุปกรณ์ใดๆ ที่สะดวกมาตักแต่ตัวหนอน นำไปให้ปลากิน เฉลี่ย โดยประมาณ 10 เส้น ต่อ 1 ตัว จะให้อาหารวันละครั้ง หรือสองครั้ง ก็ได้ แต่ไม่จำเป็นต้องให้มาก เดี๋ยวท้องอืด สาเหตุที่ต้องปล่อยให้หนอนแดงละลายเอง เพราะความคาวของเลือดจะยังคงอยู่ แต่ถ้าหากนำไปละลายกับน้ำจะทำให้เลือดละลายออกไปหมด ปลาจะไม่ค่อยสนใจเข้ามากินอาหาร
3. ไรทะเล
อาหารตัวนี้ สามารถให้ปลากัดกินได้ แต่เนื่องจากมีความเค็มอยู่ในตัวมาก อาจจะไม่เป็นผลดีต่อปลากัดเท่าไหร่นัก ก่อนจะให้ปลากินต้องล้างน้ำเปล่าหลายๆ ครั้งเพื่อทำให้ความเค็มเจือจางลง
4. ลูกน้ำ
นี่เป็นอาหารที่หาง่าย โปรตีนสูงมากๆ ปลาชอบกิน จะสังเกตได้ เวลาเลี้ยงปลากัดด้วยลูกน้ำ ปลาจะตัวหนา โตไว แต่ก็ต้องล้างน้ำให้สะอาดที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะลูกน้ำมักจะอยู่ตามน้ำครำสกปรก หากล้างไม่สะอาดปลากินเข้าไป โอกาสที่จะทำให้เป็นโรคก็สูงด้วยเช่นกันค่ะ แนะนำให้ล้างตามขั้นตอนดังนี้ค่ะ เริ่มจากนำลูกน้ำที่ช้อนได้มาคัดกรองขยะมูลฝอยที่ติดมาพร้อมกับกระชอนออกซะก่อน โดยหาตาข่ายขนาดที่ลูกน้ำสามารถแทรกตัวออกไปได้ แล้วเศษขยะก็จะติดอยู่กับตาข่าย จากนั้นก็รอสักพัก ลูกน้ำจะคายเศษสกปรกออกมา เราก็ตักออกไปแช่ในน้ำใหม่ที่ผสมด่างทับทิมเจือจาง แล้วรอสักครู่ จึงตักขึ้นย้ายไปยังน้ำสะอาดที่เตรียมไว้ แล้วก็รอต่อไปอีกสักพัก จึงตักลูกน้ำย้ายไปยังน้ำสะอาดอีกหนึ่งรอบเป็นอันเสร็จสิ้น เท่ากับเราต้องล้างน้ำ ถึง 4 ครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าเชื้อโรค และความสกปรกที่อยู่กับลูกน้ำถูกชะล้างออกไปมากพอ แล้วเราก็นำไปให้กับเหล่าปลากัดแสนรักกินได้เลย
5. ไส้เดือน
ไส้เดือนมีขนาดเล็กฝอยชอบอยู่รวมกันเป็นกลุ่มก้อน ความสกปรกมีมากเชียว สามารถให้ปลาเล็กตั้งแต่ 1 เดือนเป็นต้นไปกินได้แต่สำหรับตัวหมูเองจะหลีกเลี่ยงอาหารชนิดนี้ เพราะพยายามล้างน้ำเท่าไหร่ ก็ยังคงสกปรกอยู่และทำให้ปลาเกิดโรคได้โดยง่าย เพราะเชื้อโรคที่สะสมอยู่ในตัวไส้เดือนนั่นเอง เมื่อเวลาที่ปลากัดรับอาหารชนิดนี้เข้าไปบ่อยๆ เชื้อโรคก็สะสมตาม เมื่อไหร่ที่สุขภาพเริ่มอ่อนแอลง ภูมิต้านทานในตัวลด อาการเจ็บป่วยก็กำเริบทันที
แต่ถ้าใครที่มีเคล็ดลับในการทำความสะอาด และสามารถให้ปลากินได้โดยปลอดภัย ก็ให้กินได้เลย ขึ้นอยู่กับความถนัดและประสบการณ์ของแต่ละท่านในการเลี้ยง
สำหรับอาหารสำเร็จรูปชนิดเม็ด
มีหลายยี่ห้อ ให้เลือกซื้อมาใช้ ข้อดีของการให้อาหารชนิดนี้ คือ สะดวก ประหยัดเวลา สะอาด ง่ายต่อการซื้อหา แต่ก็มีข้อเสีย ตรงที่ปลาท้องอืดง่าย เนื่องจากในส่วนผสมของอาหารมีแป้งอยู่ด้วย อาหารอีกจำพวกที่จะกล่าวถึงนี้ เป็นอาหารที่ไว้ใช้กับลูกปลา โดยเฉพาะ หากไม่สามารถหาไรสดให้ลูกปลาได้โดยแยกอาหาร ตามระยะเวลาของอายุปลา เช่น
ช่วงอายุ 4 วันไปแล้ว
- ให้ไข่ต้มจะต้มแบบที่เนื้อไข่แดงยังเหลวอยู่ ที่เรียกว่า ไข่ยางมะตูม นำไปป้ายกับใบตอง หรือถุงพลาสติกที่ลอยน้ำได้ เพื่อให้ลูกปลามากิน วิธีนี้หมูลองทำแล้วแหะๆ ปลาไม่เห็นกินเลย
- งั้นลองนมผง อันนี้ลุ้นได้อยู่ ลูกปลาสนใจ มากิน เคยใช้เลี้ยง จนลูกปลาสามารถผ่านวิกฤต ขาดแคลนอาหารมาแล้วได้ผล วิธีการให้ก็ไม่ยากค่ะ แค่โรยลงบนผิวน้ำ ให้ปริมาณที่น้อยมากๆ น้ำจะได้ไม่ขุ่นเสีย
- ต่อไปเป็นอาหารผงสำเร็จรูปที่ใช้สำหรับลูกปลาโดยเฉพาะ เคยลองดูแล้ว ไม่รอดเลย ไม่รู้ทำไม แต่ถึงตอนนี้ก็ยังไม่ได้ทดลองให้อีก
- หนอนจิ๋ว และอาร์ทีเมีย สองอย่างนี้ไม่มีประสบการณ์จริงๆ ค่ะ แต่หากท่านใดสนใจก็ลองค้นหาบทความในกูเกิ้ลได้นะคะ มีหลายๆ ท่านที่มีประสบการณ์และนำมาแชร์ให้กับเพื่อนๆ ได้ทดลองกัน
ช่วงอายุ 20 วันไปแล้ว จนถึงโตเต็มวัย ( กรณีหาอาหารไม่ได้เลย )
- ให้ไข่ตุ๋น ขอบอกว่าเวิร์คสุดๆ หมูตุ๋นเอง ใช้ไข่แดง ผสมกับน้ำสะอาด ใส่น้ำมากหน่อย เพื่อให้ไข่ตุ๋นที่ได้มีลักษณะนุ่ม เวลาให้ปลาก็ให้แต่น้อย แล้วก็ให้บ่อยหน่อย ปลากินดี โตวัย แข็งแรง อวบเชียวแถมโปรตีนจากไข่แดงช่วยเร่งสีให้เป็นไปอย่างธรรมชาติ แต่เร็วขึ้น
- เต้าหู้ไข่ อันนี้ก็สะดวก ตัดปากหลอด ก็บีบลงตู้ หรือบ่อได้เลย ปลาก็กิน ได้ผลเหมือนกัน
ทีนี้ ก็มาว่ากันถึงเรื่องการเปลี่ยนอาหาร เนื่องจากเวลาที่ปลาถูกเลี้ยงด้วยอาหารสดเป็นประจำ แต่เมื่อเวลาต้องเปลี่ยนอาหาร เป็นชนิดอื่น เช่น แช่แข็ง หรือ แบบเม็ด ก็จำเป็นที่จะต้องฝึกกันสักเล็กน้อยเพราะนิสัยของปลาแต่ละตัวก็มีความแตกต่างกัน บางตัวเลี้ยงง่ายให้อะไรก็กินหมด แต่บางตัว ปรับสภาพยาก ก็ต้องใช้เวลาหน่อยนะคะ เริ่มจากอดอาหาร 1 วันแล้วค่อยลองให้อาหารชนิดใหม่ ให้แต่น้อยก่อน เพื่อให้ปลาได้ฝึก และคุ้นเคยกับอาหาร เมื่อปลาคุ้นเคยแล้ว ค่อยเพิ่มปริมาณอาหารมากขึ้น แต่หากลองอด 1 วันไม่ได้ผล ก็อดเพิ่มจำนวนวันไปเรื่อยๆ แต่โดยปรกติแล้ว ประมาณ 3 วันปลาก็จะเริ่มกินอาหารแล้ว
การเพาะเลี้ยงปลากัด
ปลากัด Betta splendens Regan เป็นปลาพื้นเมืองของไทยที่นิยมเพาะเลี้ยงเป็นเวลาหลายร้อยปีมาแล้ว ทั้งนี้เพื่อไว้ดูเล่นและเพื่อกีฬากัดปลาและเป็นที่รู้จักกันดีในต่างประเทศมานานเช่นกัน ปัจจุบันประเทศไทยมีการเพาะเลี้ยงปลากัดกันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากเป็นปลาที่เลี้ยงและเพาะพันธุ์ได้ง่าย ปีหนึ่ง ๆ ประเทศไทยได้ส่งปลากัดไปขายต่างประเทศคิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 20 ล้านบาท
ปลากัดพันธุ์ดั้งเดิมในธรรมชาติ มีสีน้ำตาลขุ่นหรือสีเทาแกมเขียว ครีบและหางสั้น ปลาเพศผู้มีครีบและหางยาวกว่าปลาเพศเมียเล็กน้อย จากการเพาะพันธุ์และการคัดพันธุ์ติดต่อกันมานาน ทำให้ได้ปลากัดที่มีสีสวยงามหลายสี อีกทั้งลักษณะครีบก็แผ่กว้างใหญ่สวยงามกว่าพันธุ์ดั้งเดิมมาก และจากสาเหตุนี้ทำให้มีการจำแนกพันธุ์ปลากัดออกไปได้เป็นหลายชนิด เช่น ปลากัดหม้อ ปลากัดทุ่ง ปลากัดจีน ปลากัดเขมร เป็นต้น การแพร่กระจายของปลากัดพบทั่วไปทุกภาคของประเทศไทยอาศัยอยู่ในอ่างเก็บน้ำ ทะเลสาบ หนอง บึง แอ่งน้ำ ลำคลอง ฯลฯ
ในการเลี้ยงปลากัดเพื่อการต่อสู้ มีการคัดเลือกพันธุ์ให้มีคุณสมบัติเฉพาะที่สามารถใช้ในการต่อสู้ โดยเริ่มต้นจากการรวบรวมปลาจากแหล่งน้ำธรรมชาติเรียกกันว่า ปลากัดป่าหรือปลากัดทุ่ง ที่มีลำตัวค่อนข้างเล็กบอบบางสีน้ำตาลขุ่นหรือเทาแกมเขียว นำมาเพาะเลี้ยงและคัดพันธุ์หลายชั่วอายุ จนได้ปลาที่รูปร่างแข็งแรง ลำตัวหนาและใหญ่ขึ้น สีสันสวยสด เช่น สีแดงเข้ม สีน้ำเงินเข้ม น้ำตาลเข้ม หรือสีผสมระหว่างสีดังกล่าว และเรียกปลากัดที่ได้จากการคัดพันธุ์เพื่อการต่อสู้นี้ว่า ปลากัดหม้อ ปลากัดลูกหม้อ หรือปลากัดไทย ต่อมาได้มีผู้พยายามคัดพันธุ์ปลากัดโดยเน้นความสวยงามเพื่อเลี้ยงไว้ดูเล่น โดยคัดพันธุ์เพื่อให้ได้ปลาที่มีครีบยาว สีสวย ซึ่งนิยมเรียกปลากัดลักษณะเช่นนี้ว่าปลากัดจีนหรือปลากัดเขมร ต่างประเทศรู้จักปลากัดในนาม Siamese fighting fish
การเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลากัด เนื่องจากปลากัดเป็นปลาที่มีนิสัยก้าวร้าว ชอบต่อสู้เมื่ออายุประมาณ 1 1/2 -2 เดือน การเลี้ยงปลากัดจึงจำเป็นต้องรีบแยกปลากัดเลี้ยงในภาชนะเพียง 1 ตัวก่อนที่ปลาจะมีพฤติกรรมต่อสู้กัน ภาชนะที่เหมาะสมที่สุดควรนำมาใช้เลี้ยงปลากัดได้แก่ ขวด(สุรา) ชนิดแบนบรรจุน้ำได้ 150 ซีซี เพราะสามารถเรียงกันได้ไม่สิ้นเปลืองเนื้อที่ การแยกเพศจะสังเกตเห็นว่าปลาเพศผู้จะมีลำตัวสีเข้ม ครีบยาว ลายบนลำตัวมองเห็นชัดเจนและขนาดมักจะโตกว่าเพศเมีย ส่วนปลาเพศเมียจะมีสีซีดจาง มีลาดพาดตามยาวลำตัว 2-3 แถบ และมักจะมีขนาดเล็กกว่าปลาเพศผู้
น้ำที่ใช้เลี้ยง ปลากัดต้องเป็นน้ำที่สะอาดปราศจากคลอรีน มีความเป็นกรด-ด่าง (pH) ประมาณ 6.5-7.5 มีความกระด้าง 75-100 มิลลิกรัมต่อลิตร และมีความเป็นด่าง 150-200 มิลลิกรัมต่อลิตร ควรบรรจุน้ำลงในขวดเพียง 1/2 ขวด เพื่อเว้นช่องว่างให้อากาศได้สัมผัสกับผิวน้ำ
อาหารที่ใช้เลี้ยงปลา ปลากัดเป็นปลาที่ชอบกินสัตว์น้ำขนาดเล็กเป็นอาหาร อาหารที่เหมาะสมจะใช้เลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลากัด ได้แก่ ลูกน้ำ หนอนแดง ไรสีน้ำตาล (Artemia) ที่มีชีวิต การให้อาหารควรให้วันละ 1 ครั้ง ให้ปริมาณที่พอดีปลากินอิ่ม อาหารที่ใช้เลี้ยงทุกครั้งควรล้างด้วยน้ำสะอาด แล้วแช่ในด่างทับทิมเข้มข้น 500-1,000 ส่วนในล้านส่วน (0.5-1.0 กรัม/ลิตร) เป็นเวลา 10-20 วินาที เพื่อฆ่าเชื้อโรคที่ติดมากับอาหารหลังจากนั้นจึงล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้งหนึ่ง การถ่ายเทน้ำควรกระทำสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง
ระยะเวลาที่เหมาะสมในการผสมพันธุ์ปลากัด คือช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคม-กันยายน โดยอุณหภูมิน้ำควรอยู่ระหว่าง 26-28 องศาเซลเซียส
การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ ปลาที่นำมาทำการเพาะพันธุ์ ควรมีอายุตั้งแต่ 5-6 เดือนขึ้นไป โดยปลาจะให้ไข่ครั้งละประมาณ 500-1,000 ฟอง ในฤดูผสมพันธุ์ จะสังเกตเห็นความสมบูรณ์เพศของปลาได้ชัดเจน ในการคัดเลือกปลาเพื่อผสมพันธุ์ มีหลักที่ควรปฏิบัติดังนี้
ปลาเพศผู้ คัดปลาที่แข็งแรง ปราดเปรียว ลักษณะสีสดสวย ชอบสร้างรังซึ่งเรียกว่า “หวอด” โดยการพ่นฟองอากาศที่มีน้ำเมือกจากปากและลำคอผสมด้วย ซึ่งแสดงถึงว่าปลาเพศผู้มีความสมบูรณ์ทางเพศเต็มที่พร้อมที่จะผสมพันธุ์
ปลาเพศเมีย คัดเลือกปลาที่แข็งแรง สังเกตบริเวณท้องมีลักษณะอูมเป่งและบริเวณใต้ท้องจะมีตุ่มสีขาวใกล้กับรูก้นเห็นได้ชัดเจน ซึ่งตุ่มสีขาวนี้เรียกกันว่า “ไข่น้ำ”
วิธีการเพาะพันธุ์
1.นำขวดปลาเพศผู้และเพศเมียที่มีความสมบูรณ์ทางเพศเต็มที่มาวางติดกัน ซึ่งวิธีนี้เรียกว่า “เทียบคู่” ซึ่งควรจะเป็นบริเวณที่ปราศจากสิ่งรบกวน จะทำให้ปลาตกใจ ใช้เวลาเทียบคู่ประมาณ 3-10 วัน
2.จากนั้นนำปลาเพศผู้และเพศเมีย ใส่ลงในภาชนะที่เตรียมไว้สำหรับผสมพันธุ์ เช่น ขันพลาสติก โหลแก้ว กาละมัง ตู้กระจกหรืออ่างดิน แล้วใส่พันธุ์ไม้น้ำที่แช่ด่างทับทิมเรียบร้อยแล้ว ซึ่งชนิดพันธุ์ไม้น้ำที่นิยมใช้ ได้แก่สาหร่ายพุงชะโด สาหร่ายหางกระรอก จอก ใบผักตบชวาเป็นต้น
3. เมื่อปลาสามารถปรับตัวให้ชินกับสภาพในภาชนะ (ประมาณ 1-2 วัน) ปลาเพศผู้จะเริ่มก่อหวอดติดกับพันธุ์ไม้
4. หลังจากสร้างหวอดเสร็จ ปลาเพศผู้จะพองตัวกางครีบ ไล่ต้อนตัวเมียให้ไปอยู่ใต้หวอด
5. ขณะที่ตัวเมียลอยตัวขึ้นมาบริเวณผิวน้ำ ปลาตัวผู้จะรัดตัวเมียบริเวณช่องอวัยวะเพศ
6. จากนั้นไข่ก็จะหลุดออกมา พร้อมกับเพศผู้จะฉีดน้ำเชื้อเข้าผสม และปลาเพศผู้จะตามลงไปใช้ปากดูดไข่อมไว้ ว่ายน้ำขึ้นไปพ่นไข่เข้าไปไว้ในฟองอากาศจนกว่าจะหมด
7. เมื่อสิ้นสุดการวางไข่ปลาเพศผู้จะทำหน้าที่ดูแลไข่เพียงลำพัง และจะไล่ต้อนปลาเพศเมียไปอยู่ที่มุมภาชนะ
8. หลังจากนั้นรีบนำปลาเพศเมียออกจากภาชนะเพื่อป้องกันไม่ให้ปลาเพศเมียกินไข่
9. ปล่อยให้ปลาเพศผู้ดูแลไข่ 2 วัน จึงแยกเพศผู้ออก
การอนุบาลลูกปลา ไข่ปลากัดจะฟักเป็นตัวหลังจากได้รับการผสมน้ำเชื้อประมาณ 36 ชั่วโมง โดยในช่วงแรก จะมีถุงอาหาร (Yolk sac) ติดตัวมาด้วย ดังนั้นช่วง 3-4 วันแรก จึงยังไม่ต้องให้อาหาร เป็นเวลา 3-5 วัน แล้วจึงเปลี่ยนเป็นตัวอ่อนของไรแดง (Moina) ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นไรแดงเต็มวัย เลี้ยงต่อไปจนกระทั่งปลาสามารถกินลูกน้ำได้ และผู้เลี้ยงสามารถแยกเพศปลากัดได้เมื่อปลามีอายุประมาณ 1 เดือนขึ้นไป
โรคปลากัด และ วิธีการรักษา
1. การแยกปลากัดที่ป่วยออกจากกัน ถ้าพบว่าปลากัดตัวหนึ่ง หรือมากกว่าหนึ่งมีอาการป่วย ให้ทำการคัดแยกปลาป่วยออกมาใส่ภาชนะใหม่ เพื่อรอการรักษาต่อไป ส่วนวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้คัดแยกปลาที่ป่วย ควรทำความสะอาด หรือฆ่าเชื้อทุกครั้งหลังใช้งาน รวมทั้งทำความสะอาดอวัยวะต่างๆของผู้เลี้ยง เพื่อป้องกัน การแพร่กระจายของโรคไปยังบ่ออื่นๆ
2. การพิจารณาโรคและการรักษา หลังจากคัดแยกปลากัดที่ป่วยออกมาแล้ว ให้พิจารณาอาการของปลา โดยดูจากลักษณะภายนอกว่ามีลักษณะอย่างไร สาเหตุของโรคมาจากอะไร และจะทำการรักษาวิธีไหนตลอดจนจะป้องกันโรคได้อย่างไร เมื่อพิจารณาแล้วก็ดำเนินการวางแผนการรักษาต่อไป
โรคที่มักพบได้บ่อยในปลากัดมีอยู่หลายโรคด้วยกัน แต่ละโรคมักมีสาเหตุที่แตกต่างกันไป บางโรคอาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย บางโรคอาจเกิดจากเชื้อรา และบางโรคอาจเกิดจากปรสิตภายนอก ดังนั้นเราควรมารู้จักโรคที่สำคัญๆเหล่านี้คือ
1. โรคไฟลามทุ่ง เป็นโรคที่ติดต่อกันได้เร็วที่สุดใช้ระยะเวลาเพียง 2 -3 วันก็จะติดต่อกันหมด ลักษณะอาการ เป็น แผลบริเวณโคนครีบหาง ครีบหู และครีบท้อง ขอบแผลจะมีลักษณะเป็นรอยช้ำแดง และเป็นเส้นปุยสีขาว เกล็ดของปลาจะพอง ปลาที่เป็นโรคจะลอยตัวอยู่บริเวณผิวน้ำ
การป้องกันรักษา ให้ รีบช้อนปลาที่เป็นแผลออกทันที ส่วนปลาที่เหลืออยู่ใช้ต้นหญ้าไทรที่ตากแดดหมาดๆนำมาใส่ในบ่อเลี้ยงให้มี ปริมาณมากพอที่จะทำให้น้ำมีสีเข้ม และเป็นฝ้าเล็กน้อย แช่ปลากัดไว้ประมาณ 5 – 7 วัน คล้ายกับการหมักปลากัด เมื่อแผลของปลากัดหายแล้วให้ย้ายปลากัดไปเลี้ยงในตู้ หรืออ่างใหม่ที่ใส่หญ้าไทรเล็กน้อย พอให้เกิดเป็นสีชา ปลากัดที่เลี้ยงจะค่อยๆแข็งแรง และหายเป็นปกติ
2. โรคปากดำ เป็นโรคที่รักษาไม่หาย ปลากัดที่เป็นโรคปากดำจะนำไปกัดไม่ได้ ทั้งนี้เพราะปลากัดใช้ปาก ในการต่อสู้ ถ้าปากของปลากัดเจ็บก็ไม่สามารถต่อสู้กับศัตรูได้ ลักษณะอาการ ปลากัดที่เป็นโรคปากดำ ขอบปากด้านบนจะมีขอบหนามากผิดปกติ และจะมีสีดำ เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ การป้องกันรักษา แม้ ว่าโรคปากดำเป็นโรคที่ไม่ร้ายแรง แต่โรคนี้ยังไม่มีทางรักษา ดังนั้นเมื่อพบว่าปลากัดที่เลี้ยงเป็นโรคปากดำให้ตักทิ้ง อย่าเสียดาย เพราะมิฉะนั้นจะทำให้ปลากัดตัวอื่นติดโรคนี้ไปด้วย
3. โรคปากเปื่อย จัดเป็นโรคที่ร้ายแรงชนิดหนึ่งของปลากัด โรคนี้รักษาไม่หาย ดังนั้นถ้าพบว่าปลากัดเป็นโรคปากเปื่อยต้องแยกออกทันที ลักษณะอาการ เริ่มจากขอบปากเป็นแผลสีขาวและลักษณะเป็นขุยเส้นเล็กๆ ปลากัดที่เป็นโรค ปากเปื่อยจะไม่ค่อยว่ายน้ำและมักลอยตัวอยู่บริเวณผิวน้ำเฉยๆ
การป้องกันรักษา เนื่องจากโรคนี้ไม่มีทางรักษา ถ้าพบว่าปลากัดเป็นโรคชนิดนี้ควรรีบแยกออกทันที
4. โรคท้องมาน เป็นโรคที่อาจทำให้ผู้เพาะเลี้ยงปลาเข้าใจผิดคิดว่าปลาตั้งท้อง เพราะส่วนท้องของปลากัด จะพองออก โรคท้องมานอาจเกิดจากการที่ปลากัดติดเชื้อภายในช่องท้องและมีอาการอักเสบ
ลักษณะอาการ ปลากัดมีลักษณะท้องโตเนื่องจากการติดเชื้อภายในช่องท้องจนทำให้ท้องมีขนาดโตผิดปกติ การป้องกันรักษา ผู้เลี้ยงบางรายใช้วิธีเอาดีเกลือ 1 ช้อนชา ผสมกับน้ำ 1.5 ลิตร จากนั้นจึงจับปลากัดลงแช่ 1-2 วัน อาการจะทุเลาลง
5. โรคปลาตัวสั่น ปลา ที่เป็นโรคจะมีอาการสั่น สาเหตุเกิดจากน้ำที่ใช้เลี้ยงสกปรกมีแบคทีเรียปะปนอยู่มาก หรือเกิดจากอุณหภูมิของน้ำเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ลักษณะอาการ ปลาที่เป็นโรคนี้จะมีอาการตัวสั่นและว่ายน้ำผิดปกติ การป้องกันรักษา ให้ เปลี่ยนน้ำที่ใช้เลี้ยงปลาโดยที่อุณหภูมิน้ำที่เปลี่ยนใหม่ต้องไม่แตกต่าง จากน้ำที่อยู่ในตู้เลี้ยงเดิมมากเกินไป แล้วเติมเกลือลงในน้ำที่ใช้เลี้ยงปลาอัตราส่วน 2 ช้อนชาต่อน้ำ 5 ลิตร เพื่อให้เกลือไปฆ่า เชื้อแบคทีเรียเล็กๆที่อยู่ในน้ำ ให้ลดจำนวนลง
6. โรคที่เกิดจากเชื้อรา โดยปกติแล้วเชื้อราไม่ใช่สาเหตุที่แท้จริงของโรค สาเหตุของโรคเนื่องจากปลาได้รับความบอบช้ำ ลักษณะอาการ เห็นปุยขาวคล้ายสำลีในบริเวณที่เป็นโรค ปลามีอาการซึมไม่ว่ายน้ำ หยุดกินอาหาร ปลากัดสีซีด การป้องกันรักษา ใช้มาลาไคท์กรีนเข้มข้น 0.1-0.25 ส่วนในล้านส่วน ร่วมกับฟอร์มาลีน 25 ส่วนในล้านส่วน แช่ปลานาน 3 วัน
7. โรคหางและครีบเปื่อย เป็นโรคที่พบอยู่เสมอ สาเหตุเกิดจากน้ำที่ใช้เลี้ยงสกปรก มีตะกอนหรือเศษอาหารเหลือและทับถมอยู่ที่ก้นบ่อ ทำให้เป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค ลักษณะอาการ ปลาจะเริ่มเปื่อยบริเวณครีบต่างๆก่อนแล้วค่อยๆลุกลามเข้าไปจนถึงตัวปลา โรคนี้เกิดจาก เชื้อแบคทีเรีย ดังนั้นถ้าปลาเป็นโรคนี้แล้วจะทำให้ครีบต่างๆ ของปลาเสียหายไม่สวยงาม การป้องกันรักษา ใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาในอัตราส่วน 1-2 กรัมต่อน้ำ 1,000 ลิตร แช่ปลานานประมาณ 2-3 วัน ยาปฏิชีวนะที่ใช้ ได้แก่ ออกซีเตตร้าไซคลิน ไนโตรฟูราโซน เป็นต้น
Playtech Casinos And Games For US Players 2021 - JTM Hub
ตอบลบLearn all about 고양 출장안마 Playtech slots. Learn about its software, casino 여주 출장샵 games, 제천 출장마사지 and other games at their bonuses, 나주 출장샵 promotions, and 거제 출장안마 where to play.